“สุริยะ”มอบนโยบาย ธพว. เดินหน้าเต็มสูบสินเชื่อดอกเบี้ย 1% ต่อปี

“สุริยะ”มอบนโยบาย ธพว. เดินหน้าเต็มสูบสินเชื่อดอกเบี้ย 1% ต่อปี

อัปเดตล่าสุด 28 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 330 Reads   

“สุริยะ” นำคณะกระทรวงอุตสาหกรรม  ตรวจเยี่ยม พร้อมมอบนโยบาย ธพว. เร่งเดินหน้าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจสนับสนุน SMEs รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อพิเศษ ดอกเบี้ย 1% ต่อปี วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เชื่อช่วยเหลือคนตัวเล็กได้มากกว่าหมื่นราย มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่า 4 หมื่นล้านบาท   

วันที่ 26 ส.ค. 62 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ ให้เกียรติตรวจเยี่ยม ติดตามผลการดำเนินงาน พร้อมมอบนโยบายแก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank  ณ อาคารสำนักงานใหญ่ SME D Bank 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและห่วงใยผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยอย่างยิ่ง เพราะมีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยากจะเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ได้เห็นชอบและอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ในโครงการสินเชื่อพิเศษสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว) หรือ SME D Bank  วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษเพื่อสนับสนุน SMEs คนตัวเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้ ธพว. เร่งดำเนินการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวให้ถึงผู้ประกอบการรายย่อยอย่างรวดเร็วและทั่วถึง คาดจากโครงการนี้จะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากกว่า 10,000 ราย และก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่า 40,000 ล้านบาท  

ด้านนายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธพว. เผยว่า ธนาคารวางแผนทำงานเชิงรุก  เพื่อให้เอสเอ็มอีคนตัวเล็กเข้าถึงโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยจากรัฐบาลได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด  โดยมีกระบวนการทันสมัย ผู้ประกอบการสามารถยื่นกู้ออนไลน์ได้จากทุกที่ และทุกเวลา ด้วยแอปพลิเคชั่น “SME D Bank”  หลังจากนั้น ธนาคารจะส่งหน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไวไปถึงถิ่น” เข้าไปหาถึงสถานประกอบการ เพื่อดูข้อมูลเชิงประจักษ์ สามารถพิจารณาอนุมัติในเวลา 7 วัน

นอกจากนั้น จัดกิจกรรมให้เจ้าหน้าที่สาขาธนาคารทั่วประเทศ กระจายลงพื้นที่ย่านธุรกิจ ตลาดการค้า และชุมชนต่างๆ ทุกวันไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ เพื่อไปแนะนำและให้คำปรึกษาสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ นายพงชาญ รายงานผลการดำเนินการของธนาคารที่ผ่านมา สำหรับสินเชื่อกองทุนฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับ SMEs - คนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1%ต่อปี วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย ซึ่งธนาคารได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา ขณะนี้ วงเงินถูกปล่อยกู้หมดแล้ว สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยได้มากกว่า 8,000 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 56,000 คน และเกิดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่า 32,000 ล้านบาท  

ขณะเดียวกัน ธพว. สร้างกระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการ ยกระดับคนตัวเล็กให้มีศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น สามารถปรับตัวทันโลกธุรกิจยุคใหม่ ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการ “ขับเคลื่อน SMEsไทย กู้ง่าย...โตไวใช้บัญชีเดียว” พาเข้าสู่มาตรฐานบัญชีเดียว โครงการเปิดช่องทางตลาดใหม่ ทั้งด้านอีคอมเมิร์ซ นำขึ้นแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ของ Thailandpostmart.com และ Shopee พาร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ เช่น ตลาดนัดสัญจร “คาราวานสุดยอด SMEs ของดีทั่วไทย” พาสินค้าขายใน “มุมไทยเด็ด” ผ่านสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ทั่วประเทศ และรายที่มีศักยภาพ ต่อยอดพาออกงานแสดงสินค้าต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย และกลุ่ม CLMV เป็นต้น นับตั้งแต่ปี 2558 ถึงกรกฎาคม 2562   สามารถยกระดับคนตัวเล็กสำเร็จแล้วกว่า 29,396 ราย ประกอบด้วย อบรมความรู้ให้ผู้ประกอบการ 29,396 ราย พาออกบูธขายของ 115 ครั้ง จำนวน 2,015 ราย ก่อให้เกิดรายได้ 235.8 ล้านบาท ช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ 355 ราย คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 60 ล้านบาท และสร้างผู้ประกอบการใหม่มากกว่า 1,200 ราย โดยปีนี้ (2562) ตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นกว่า 5,500 ราย 

นอกจากนั้น ธนาคารลงทุนกว่า 600 ล้านบาท พัฒนาระบบ Core Banking ยกระดับการทำงานของธนาคารสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยเข้าถึงบริการของธนาคารอย่างง่ายดาย โดยจะเปิดบริการทีละส่วนต่อเนื่อง และสมบูรณ์แบบภายในสิ้นปี 2563